เอกชนรายใหญ่ผนึกกำลังจัดตั้งโครงการฟื้นฟูประเทศ ภายใต้โครงการ “พลังน้ำใจไทย Power of Thai”
เนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวางทั้งทางด้านวัตถุและด้านสังคม องค์กรเอกชนต่างๆได้มีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและให้การสนับสนุนกิจกรรมของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เมื่อเริ่มเกิดอุทกภัยตั้งแต่ เมื่อ 3เดือนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามปัญหาในครั้งนี้เป็นปัญหาใหญ่ และขอบเขตของปัญหาขยายออกไปในวงกว้างแทบทุกด้าน บริษัทเอกชนขนาดใหญ่อันประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน), บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน), บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน), กลุ่มมิตรผล, บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) และบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ในเครือสหพัฒน์
จึงได้ประชุมหารือและเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาที่ภาคเอกชนควรจะต้องรวมพลังกัน เพื่อช่วย ในการฟื้นฟูประเทศ ภายหลังจากสภาวะที่น้ำได้มีการลดระดับลงแล้ว
กลุ่มภาคีเห็นพ้องกันว่า “แนวความคิดในการรวมพลังกันของกลุ่มธุรกิจเอกชนในครั้งนี้ เกิดจากการที่แต่ละบริษัทซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ได้มีการทำ CSR กันอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้เห็นภาวะของปัญหาในครั้งนี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจกันในทุกภาคส่วน ซึ่งการแก้ไขปัญหาในสภาวะการณ์ปัจจุบันจะเป็นการให้ความช่วยเหลือ ในการให้ที่พักพิงและอาหาร
แต่หากมองในระยะยาวภายหลังน้ำลดแล้ว การ“ฟื้นฟู” เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง และการฟื้นฟูนั้นมีได้หลายลักษณะ ทางภาคธุรกิจขนาดใหญ่จึงเห็นร่วมกันว่า ความร่วมมือร่วมใจกันนั้นจะเกิดเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนการฟื้นฟูให้เป็นรูปธรรมได้มาก จึงเกิดการรวมตัวกันขององค์กรใหญ่ถึง 12 องค์กร ในเบื้องต้น และได้มีการประชุมไปเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดตั้งโครงการ “พลังน้ำใจไทย Power of Thai” ที่จะระดมทุนในการฟิ้นฟูประเทศต่อไป
รายละเอียดโครงการ
ชื่อโครงการ
พลังน้ำใจไทย Power of Thai
องค์กรภาคีที่ร่วมจัดตั้ง
ประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ 12 บริษัทในเบื้องต้น อันประกอบด้วย
1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด
4. บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ในเครือเจริญโภคภัณฑ์
5. บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
8. กลุ่มมิตรผล
9. บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
10. บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด
11. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
12. บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ในเครือสหพัฒน์
และยังคงเปิดรับให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาร่วมเป็นภาคีของโครงการ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
- เพื่อระดมทุนภายใต้ “กองทุนพลังน้ำใจไทย Power of Thai”
- โดยทุนดังกล่าวจะเน้นการช่วยเหลือฟื้นฟูการศึกษาของประเทศ ภายหลังจากน้ำลดแล้ว
สัญลักษณ์ของโครงการ
การนำสีของธงชาติมาเป็นสัญลักษณ์
องค์ประกอบของความร่วมมือ
1. Fund raising โดย
1.1 Seeding Fund คือทุนเริ่มแรกจะมีการจัดหามาจากแต่ละองค์กรเพื่อจะสามารถนำมา
เป็นทุนในการระดมทุนในกิจกรรมอื่นต่อไป เช่น โครงการร่วมในการระดมทุน คือ การทำ wristband “พลังน้ำใจไทย Power of Thai” ที่จะออกแบบโดยใช้สีของธงชาติมาเป็นแกนในการออกแบบ ซี่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบ จากนั้น จะมีการผลิต wristband จำนวน 1 ล้านชิ้น ออกจำหน่าย ในราคาชิ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท โดยไม่หักค่าใช้จ่าย เพื่อใช้เป็นทุนเริ่มต้นในการดำเนินการ
1.2 การระดมทุนโดยการออกผลิตภัณฑ์พิเศษสำหรับโครงการ “พลังน้ำใจไทย Power of
Thai ” โดยแต่ละองค์กรจะไปจัดกิจกรรมหรือสินค้าเพื่อจำหน่าย ภายใต้สัญญลักษณ์ “พลังน้ำใจไทย Power of Thai” โดยจะนำรายได้ส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดเข้าร่วมในกองทุนครั้งนี้ รวมถึงการระดมทุนในรูปแบบอื่นๆ จะมีการจัดต่อไปตามความเหมาะสม
2. การ Share Synergy
นอกจากจะเป็นการร่วมระดมทุน สำหรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำลด ยังทำให้องค์กรต่างๆ สามารถ Share Synergy กัน คือการร่วมมือในกิจกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในบางองค์กรที่ดำเนินการอยู่ ให้เติมเต็มในกิจกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกันและกันได้ตามความต้องการและลักษณะของกิจกรรม
ระยะเวลาโครงการ
ระยะเวลาเริ่มโครงการวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 และตั้งเป้าหมายในการสรุปผลของการระดมทุนของโครงการที่วันที่ 30 มิถุนายน 2555
วัตถุประสงค์หลักของของโครงการคือ การฟื้นฟูด้านการศึกษา ซึ่งจากวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 เป็นต้นไป ได้มีการแบ่งคณะทำงานที่จะศึกษาสภาวะปัญหาและความต้องการของภาคการศึกษา เพื่อที่จะนำมากำหนดเป็นขั้นตอนการดำเนินการฟื้นฟูและช่วยเหลือต่อไป
อนึ่ง เนื่องจากโครงการดังกล่าวเพิ่งให้ได้ข้อสรุปโดยผู้บริหารระดับสูงของทุกภาคี รายละเอียดรูปแบบของ wristband และผลิตภัณฑ์ในโครงการ ฯ เพื่อนำรายได้เข้าสนับสนุนโครงการดังกล่าว จะมีการสรุปและแจ้งรายละเอียดให้สื่อมวลชนทราบ และเพื่อกรุณาเผยแพร่ต่อไป