ข้อชี้แจงต่อการคาดเดาของ TDRI

ข้อชี้แจงต่อการคาดเดาของ TDRI  วันที่ 13 พฤษภาคม 2554

ตามที่ได้ปรากฎบทความของ TDRI ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ภายใต้หัวข้อว่า คดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G: ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ? โดยมีเนื้อหาส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมเมื่อปลายปี ๒๕๕๓  และในตอนท้ายของบทความดังกล่าว ได้กล่าวพาดพิงถึงทางบริษัททรูอย่างคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง ทางบริษัทซึ่งเป็นบริษัทมหาชนมีหน้าที่ต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น บริษัทฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้การเข้าใจผิดของผู้ที่อ่านบทความดังกล่าวของ TDRI

                เรื่องแรกที่ TDRI กล่าวว่าหากดีแทคไม่ได้ทำการฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้ว TDRI คาดว่า นอกจากทีโอทีแล้ว ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการ 3G อีกรายเดียวคือ ทรู บริษัทฯขอชี้แจงว่าการคาดเดาของ TDRI ซึ่งอาจจะเกิดจากความหลงผิดในเนื้อหาสาระของกฎหมายและประกาศ กฎเกณฑ์ต่างๆ ของ กทช. นั้นเป็นเรื่องที่ผิดในสาระสำคัญ ตามโครงสร้างของสัญญาต่างๆและการดำเนินการนี้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก็คือ นอกจากทีโอทีซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการ 3G หลัก โดยมี บริษัทต่างๆหลายบริษัท เข้ารับดำเนินการในลักษณะของ MVNO แล้ว ผู้ให้บริการ 3 G หลักอีกรายหนึ่งคือ กสทฯ ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการในฐานะ ผู้ขายส่งบริการ ตามประกาศคณะกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทการขายส่งบริการและบริการขายต่อบริการ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ โดยมี กสทฯ และบริษัท เรียลมูฟ จำกัด รวมสองรายเข้ารับดำเนินการในฐานะ ผู้ขายต่อบริการ ตามประกาศดังกล่าวของ กทช.

            ในเรื่องการให้บริการภายใต้ความเสมอภาคนั้น ภายใต้กฎเกณฑ์ของ กทช. บรรดาผู้ให้บริการ MVNO ของทีโอที จะต้องให้บริการภายใต้เงื่อนไขเดียวกันที่กำหนดโดยทีโอที และเช่นเดียวกัน บรรดาผู้ให้บริการ ขายต่อบริการของ กสทฯ ก็จะต้องให้บริการภายใต้เงื่อนไขเดียวกันที่กำหนดโดย กสทฯ

ทั้ง เอไอเอส และ ดีแทค ก็สามารถเข้าร่วมให้บริการ 3G ได้โดยเลือกเอาว่าจะเข้ากลุ่ม MVNO โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของทีโอที หรือจะขอเข้ากลุ่ม ผู้ขายต่อบริการ โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กสทฯ

            การแข่งโดยแบ่งเป็นกลุ่มเช่นนี้ มีข้อดีก็คือ ป้องกันการถือครองตลาดโดยกลุ่มของทีโอที หรือกลุ่มของ กสทฯ เพราะทั้งสองกลุ่มต้องแข่งกันเองไปจนกว่า กสทช.จะจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีผู้ให้บริการ 3G หลักมากกว่านี้

            เรื่องที่สองที่ TDRI คาดเดาคือรัฐจะเสียหายจากการไม่ได้รับค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า สามหมื่นเก้าพันล้านบาท เนื่องจาก กสทฯ นำคลื่นของตัวเองไปให้ทรูใช้ ฯลฯบริษัทฯขอชี้แจงว่าการคาดเดาดังกล่าวเป็นไปอย่างไร้การวิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงที่นักวิชาการพึงจะกระทำ   คลื่นความถี่ที่กล่าวถึงกันนี้เป็นคลื่นความถี่ที่เดิม กสทฯ ได้รับมาจากกรมไปรษณีย์ในครั้งที่กสทฯยังเป็น การสื่อสารแห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อภาครัฐโอนถ่ายอำนาจการกำกับดูแลโทรคมนาคมไปให้ กทช. โดยจัดตั้ง กทช.ขึ้นเป็นองค์กรอิสระ และแปรสภาพของการสื่อสารแห่งประเทศไทยให้กลายเป็นเพียงบริษัทมหาชนนั้น กทช.ก็ออกใบอนุญาตให้ กสทฯใช้คลื่นความถี่ต่างๆได้ ซึ่ง กสทฯ ก็ใช้คลื่นความถี่นี้เองภายใต้เครื่องหมายการให้บริการ Hutch โดยเช่าอุปกรณ์จากบริษัทบีเอฟเคทีจำกัด และให้บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด เป็นผู้ช่วยดำเนินการทางการตลาด ในปัจจุบันบริษัทในเครือของบริษัทฯ ได้ซื้อหุ้นในบริษัทบีเอฟเคทีจำกัดและบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด จากผู้ถือหุ้นเดิม กสทฯก็ยังคงดำเนินการโดยใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวของตนเองต่อไป กสทฯไม่ได้โอนใบอนุญาตการใช้คลื่นไปให้บุคคลภายนอก โดยกสทฯเพียงแต่ประกอบกิจการ ขายส่งบริการ และใช้คลื่นความถี่นั้นในการให้บริการดังกล่าว โดยที่ผู้ให้บริการ ขายต่อบริการ รุ่นแรกจะประกอบไปด้วย กสทฯ เอง และบริษัท เรียล มูฟ จำกัด  กสทฯมิได้นำคลื่นความถี่ไปให้บริษัทฯใช้ดังการคาดเดาของ TDRI แต่อย่างไร

            เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเมื่อใดที่ กสทช. จะนำคลื่นที่เหมาะสมกับ 3G คือคลื่นย่าน 2.1 MHz หรือคลื่นที่เหมาะสมกับ 4G ฯลฯ ออกมาให้ประมูล ผู้ให้บริการหลักทางด้านโทรคมนาคมไม่มีทางเลือกนอกจากจะเข้าร่วมประมูล แต่การที่แต่ละรายจะสู้ที่เงินเท่าใดนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับการการคาดการทางพาณิชย์ในด้านจุดคุ้มทุนของแต่ละรายซึ่งย่อมจะแตกต่างกันออกไป

ยิ่งไปกว่านั้น ในการประมูลคลื่นความถี่โดย กสทช. นั้น มาตรา ๕๓ (๒) ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

 บัญญัติว่าให้เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นนั้นเข้าไปที่ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ของกสทช. ซึ่งจะตกอยู่ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ซึ่ง กสทช. เป็นหน่วยงานอิสระออกจากการบริหารกิจการบ้านเมืองของรัฐบาล รายได้จากการประมูลคลื่นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าจะประหยัดงบประมาณแผ่นดินแต่อย่างใด เรื่องนี้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องคงจะต้องติดตามเฝ้าดูการใช้จ่ายเงินของกองทุนนี้ต่อไป

เรื่องที่สามที่ TDRI คาดเดานั้น คือสัญญาที่ กสทฯทำกับบริษัทในเครือของบริษัทฯ มีลักษณะคล้ายสัมปทานระหว่าง กสทฯ และทรู จะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส ฯลฯ การคาดเดานี้ไม่ได้แสดงเหตุผลประกอบการคาดเดา  บริษัทฯขอเรียนว่าสัญญาระหว่าง กสทฯ และทรูนี้ผ่านยกร่าง ปรับปรุง และเจรจา และตรวจสอบจากนักกฎหมายมืออาชีพผู้มีประสบการณ์ในด้านการสัญญามาอย่างมากมายหลายกลุ่ม เป็นต้นว่า (๑) ที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการของ กสทฯ (๒)ฝ่ายกฎหมายของกสทฯ (๓)สำนักงานกฎหมายผู้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของกสทฯ (๔)สำนักงานกฎหมายผู้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯ (๕)ฝ่ายกฎหมายของบริษัทฯ (๖)สำนักงานกฎหมายผู้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของธนาคารผู้ให้กู้ (๗)ฝ่ายกฎหมายของธนาคารผู้ให้กู้ และ (๘)สำนักงานอัยการสูงสุด รวมจำนวนนักกฎหมายอาชีพผู้มีประสบการณ์หลายสิบท่าน ก็ไม่มีใครเห็นว่าสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเหมือนสัมปทาน ดังการกล่าวอ้างของนักกฎหมาย TDRI

ข้อชี้แจงต่อการคาดเดาเพิ่มเติมของ TDRI  วันที่ 17 พฤษภาคม 2554

ตามที่ได้ปรากฏบทความของ TDRI ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2554 บริษัทฯ จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อแก้การเข้าใจผิดของผู้ที่อ่านบทความครั้งล่าสุดของ TDRI   ดังต่อไปนี้

1.       ประเด็นของ TDRI: ทรูมีสิทธิใช้โครงข่ายของ กสท ถึง 80% ซึ่งทำให้สัญญาขายส่งนี้มีผลบังคับผู้ขายเกินกว่าสัญญาขายส่งทั่วไปและกีดกันรายอื่น

ข้อชี้แจงของ True: การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวเป็นการคาดเดาจากการที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงในสัญญาที่ทำขึ้น ดังนี้

1.       กสท มีความประสงค์ที่จะเป็นบริษัทที่ให้บริการทางด้านโครงข่าย (Network Provider) กสท จึงต้องการจะมีกรรมสิทธิ์ในตัวเสา(Towers)  ในกรณีของเรื่องนี้ทางกลุ่มทรูเป็นผู้ลงทุนในเสาอากาศ (antenna) บนเสา (Towers)ทั้งหมดแล้วให้ กสท เช่าเพื่อนำไปใช้ประกอบกับทรัพย์สินอื่นๆ (รวมทั้งคลื่นความถี่) ของ กสท เพื่อผลิตความจุ (capacity) ออกมา เมื่อได้ความจุ (capacity) แล้ว กลุ่มทรูซื้อไปใช้ขายต่อบริการร้อยละ 80 ส่วน กสท นำไปใช้เองหรือนำไปให้คนอื่นขายต่อบริการร้อยละ 20 

ทั้งนี้ เมื่อเสา (Towers) เป็นของกสท แล้ว ถ้ากสท. หรือมีลูกค้าของ กสท รายใหม่ประสงค์ที่จะใช้ความจุ (capacity) มากกว่าร้อยละ 20 ที่ผลิตออกมา กสท ก็ดี หรือลูกค้าของ กสท ก็ดีสามารถดำเนินการแบบเดียวกับกลุ่มทรู นั่นคือลงทุนในเสาอากาศ (antenna)นำไปติดบนเสา (Towers) เพื่อให้กสท ผลิต ความจุเพิ่มเพื่อซื้อเอาไปขายต่อบริการตามเงื่อนไขเดียวกับกลุ่มทรูดังที่กำหนดโดยกติกาของ กทช. ก็ได้อยู่แล้ว

2.       ตัวเลข 80% เป็นอัตราเพดาน กล่าวคือเรียลมูฟจะซื้อความจุโครงข่ายได้ไม่เกิน 80% ไม่ได้หมายความว่าเรียลมูฟจะต้องซื้อความจุที่ 80%

3.       ตัวเลข 80% นั้น ไม่ได้หมายความว่าเรียลมูฟจะต้องซื้อบริการความจุโครงข่ายที่ 80% เนื่องจากในการให้บริการ เรียลมูฟ ต้องคำนึงถึงความต้องการ (Demand) ของผู้ใช้บริการเป็นสิ่งสำคัญด้วย

4.       กสท. ในฐานะที่เป็นผู้ขายส่งบริการจึงเป็นผู้มีหน้าที่สร้างโครงข่าย เพื่อให้บริการขายส่งบริการตามปริมาณเพื่อสนองความต้องการทางตลาดของลูกค้า(เรียลมูฟ/ผู้ขายต่อบริการ) ซึ่งจะเป็นลูกค้าผู้ชำระค่าซื้อความจุ (Capacity) ที่ตนสั่ง การจะสั่งลงทุนขยายโครงข่ายมากหรือน้อยเท่าใด เรียลมูฟจึงต้องพิจารณาถึงความต้องการของตลาดไม่ใช่จำนวน % ตามที่กล่าวอ้าง

5.       ทรูจะไม่ดำเนินธุรกิจสร้างการผูกขาดด้วยการขาดทุน (ถ้า TDRI เข้าใจธุรกิจ) จะเห็นได้ว่า กสท มีกลไกในการสร้างการแข่งขันโดยมิให้มีการผูกขาดได้อยู่แล้ว ในทางกลับกัน การที่ TDRI พยายามให้เหตุผลยับยั้ง กสท และ ทรูในฐานะหนึ่งในผู้ขายปลีก ต่างหาก ที่เป็นการขัดขวางรัฐวิสาหกิจเช่น กสท และเอกชนไทยรายเล็กในการแข่งขัน ทำให้เกิดการผูกขาดโดย 2 ผู้ประกอบการใหญ่ต่างชาติ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 75%  ทำให้รัฐเสียประโยชน์อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการยับยั้ง การลดการแข่งขันของ 3G ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการใหญ่ทั้ง 2 เจ้า นอกจากผูกขาดและรักษาความได้เปรียบของสัญญาและปริมาณคลื่นแล้ว ยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขยายการลงทุนอีก ซึ่งทำให้ประเทศชาติสูญเสีย GDP ถึง 8 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาทจากการไม่มี 3G ใช้อย่างทั่วถึง

6.       ตัวเลข 80% มีที่มาจากสัดส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนผู้ใช้บริการของ กสท. ในส่วนกลาง (8 แสนราย) และในส่วนภูมิภาค (2 แสนราย) จึงใช้ตัวเลขดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อรองรับความจุโครงข่ายในแต่ละส่วนที่เพียงพอในกรณีที่ผู้ใช้บริการเปลี่ยนจากระบบ CDMA มาเป็นระบบ HSPA

2.       ประเด็นของ TDRI: สัญญาดังกล่าวมีข้อกำหนดที่เกินจากสัญญาเช่าทั่วไปโดยกำหนดว่ากสท. จะนำคลื่นความถี่ในย่าน 800 MHz จำนวน 15x2 MHz…. มาใช้กับเครื่องและอุปกรณ์ของบริษัทเท่านั้น” (ข้อ 2.12)

ข้อชี้แจงของ True: การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวเป็นการคาดเดาจากการที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงในสัญญาที่ทำขึ้น ดังนี้

1.       จำเป็นต้องมีการระบุย่านคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้กับอุปกรณ์ เนื่องจากอุปกรณ์โทรคมนาคมมีการตั้งค่าคลื่นความถี่ไว้ตั้งแต่ตอนซื้อ การสั่งซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมจึงจะมีความเสี่ยงสูงถ้าไม่ระบุให้ชัดเจนถึงค่าของคลื่นความถี่ที่จะใช้กับอุปกรณ์

2.       ผู้ที่เข้าใจและมีประสบการณ์ในการทำสัญญาย่อมทราบดีว่าในสัญญาเช่าอุปกรณ์โดยทั่วไปจะต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพการให้บริการ (SLA หรือ performance guarantee) ดังนั้น หากไม่ระบุคลื่นความถี่ที่จะนำมาใช้กับอุปกรณ์ เช่นหากนำคลื่นความถี่อื่นมาใช้กับอุปกรณ์นั้นจะทำให้อุปกรณ์นั้นไม่สามารถใช้งานได้หรืออาจใช้งานได้แต่มีประสิทธิภาพต่ำไม่ถึงเกณฑ์คุณภาพการให้บริการตามที่กำหนดในสัญญา

3. ประเด็นของ TDRI:  ทรูฯ เริ่มให้บริการ 3G ก่อน AIS และ DTAC ทำให้ทรูฯ ได้เปรียบในการแข่งขันเป็นอย่างมาก

ข้อชี้แจงของ True:

1.       AIS และ DTAC มีการเปิดให้บริการ 3G ไปแล้ว โดย AIS มีการเปิดให้บริการ 3G ในปี 2008 ก่อนรายอื่นกว่า 1 ปี รวมทั้งกรณี  TOT ก็ให้บริการ 3G ก่อนคนอื่นกว่า 2ปี โดยได้คลื่น 3G โดยไม่ต้องประมูล การอ้างไม่ให้ กสท. ให้บริการจะเป็นการให้สิทธิผูกขาด 3G ยังอยู่ที่ AIS และ DTAC

2.       DTAC มีอายุสัญญาเหลืออีก 8ปี โดยทรูมูฟเหลือสองปี เมื่ออายุสัญญาของทรูมูฟหมดจะเป็นการให้ DTAC ให้บริการแต่เพียงผู้เดียว

3.       DTAC มีคลื่นย่าน 2G จำนวนถึง 50 MHz และย่าน 3G จำนวน 10 MHz เมื่อเทียบกับทรูมูฟซึ่งมีคลื่นความถี่ 2G เพียง 12.5 MHz และย่าน 3G เพียง 5 MHz เพราะเหตุใด TDRI จึงเข้าข้าง DTACโดยไม่ยกประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในเรื่องนี้ด้วย หากจะอ้างว่าเป็นเรื่องของสัญญาเดิมที่ทำมา ก็ไม่แตกต่างกับกรณีของ ทรูฯ เนื่องจากก็เป็นสัญญาที่มีความเป็นมาจากสัญญา Hutch เดิมแล้วถึง 9 ปี โดยสัญญาทั้งหลายก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดเช่นกัน  หากเห็นว่าสัญญา Hutch ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุใดถึงไม่ยกตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว แต่เพิ่งมายกในตอนนี้

4.       การที่ กสท. นำคลื่น 3G มาใช้งานเป็นความชอบธรรมและเป็นสิทธิของ กสท. ไม่ใช่เรียลมูฟ

5.       การที่ AIS และ DTAC มิได้เปิดให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการ (โดย AIS ทดลองถึง 1800 สถานีและ DTAC ทดลองถึง 1400 สถานี) ก็ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานของรัฐจะไม่ให้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ  DTAC ก็มีความพยายามมาโดยตลอดที่จะขอเปิดให้บริการก่อนที่จะฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง

6.       ในกรณีของการขายต่อบริการ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หาก DTAC ต้องการขายต่อบริการ 3G เช่นเดียวกันกับเรียลมูฟ ก็สามารถเข้าไปร่วมในโครงการของ กสท ได้อยู่แล้ว โดย DTAC ต้องลงทุนในเสาอากาศทำนองเดียวกันกับกลุ่มทรู ส่วนคลื่นนั้น DTAC สามารถให้กสท นำคลื่นย่าน 850 MHz ไปใช้เพื่อผลิตความจุ (Capacity)  เช่นเดียวกัน

       4.    ประเด็นของ TDRI: การทำสัญญาดังกล่าวทำให้รัฐเสีย 3.9 หมื่นล้าน

ข้อชี้แจงของ True: การกล่าวว่าการทำสัญญาดังกล่าวจะทำให้รัฐเสีย 3.9 หมื่นล้านนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและบิดเบือนข้อเท็จจริง

1.       ผู้เขียนเข้าใจผิดว่าผู้ที่ต้องจ่าย 3.9 หมื่นล้านให้กับรัฐคือเอกชน ซึ่งที่จริงแล้วผู้ที่จะต้องรับต้นทุนคือผู้ใช้บริการทั้งหมด ที่ผู้เขียนพูดว่ารัฐเสียหายหมายถึงรัฐที่เป็นประชาชน หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือรัฐต่างประเทศ

2.       ตัวเลข 3.9 หมื่นล้านที่พูดเป็นตัวเลขที่มาจากการประมูลคลื่น 2.1 GHz จำนวน 45 MHz แต่ กสท มีคลื่นที่ย่าน 800 MHz อยู่เพียง 10 MHz ดังนั้น จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้

3.       คลื่นความถี่ที่เป็นของ กสท. ไม่ใช่คลื่นที่สามารถนำมาประมูลได้ เนื่องจากเป็นคลื่นเดิมที่ทั้ง กสท และ TOT ได้รับจัดสรรจาก กทช. ตามใบอนุญาต

4.       ผู้เขียนคาดเดาเอาเองว่า ทรูฯ จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นย่าน 2.1 GHz ซึ่งเป็นการคาดเดาที่คลาดเคลื่อน ซึ่งทรูฯ ก็เคยกล่าวไว้แล้วว่าจะเข้าร่วมประมูล

      5.  ประเด็นของ TDRI: สัญญาดังกล่าวเป็นสัมปทานที่ต้องทำตาม พรบ. ร่วมทุนฯ

ข้อชี้แจงของ True : ในส่วนของคลื่นความถี่ที่ได้จัดสรรและกำกับดูแลโดย กทช. นั้น อยู่นอกข่ายของ พรบ. ร่วมทุนฯ ไม่เช่นนั้น คลื่นความถี่ทั้งหมดที่ กทช. ได้จัดสรรไปแล้วทั้งหมดจะต้องเข้า พรบ. ร่วมทุนฯ ซึ่งรวมถึงคลื่นความถี่ที่ กทช. ได้จัดสรรให้กับบริษัท กสท. และบริษัท ทีโอที ไปตั้งแต่แรกด้วย

       6.  ประเด็นของ TDRI: นักกฎหมายที่ ทรูฯ อ้างว่าได้ตรวจสอบสัญญาล้วนเป็นนักกฎหมายที่ปรึกษาของทรูหรือธนาคารผู้ให้กู้ซึ่งล้วนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องหรือได้รับค่าตอบแทนจากทรูหรือ กสท.

ข้อชี้แจงของ True

1.       อยากจะให้ TDRI ได้ทราบว่านักกฎหมายที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องคือฝ่ายกฎหมายของ กสท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของรัฐตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมาก็ได้รักษาผลประโยชน์ของรัฐอย่างเต็มที่ ซึ่งคงไม่เหมาะสมถ้าจะให้ทรูฯ พูดแทน กสท.

2.       นักกฎหมายอื่นๆที่ TDRI กล่าวถึงนั้น มีหน้าที่ทั้งด้านจรรยาบรรณและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของลูกความตน  ซึ่งทรูก็มีความเคารพในศักดิ์ศรีวิชาชีพของท่านทั้งหลายในการตีความกฎหมาย

3.       การที่ผู้เขียนมีการอ้างถึง กสท. และสำนักงานอัยการสูงสุด ทรูฯ มั่นใจว่าหน่วยงานดังกล่าวจะใช้ความรอบคอบในการพิจารณาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และเอกสารที่ผ่านออกมาจากหน่วยงานดังกล่าวนั้นผ่านขั้นตอนถูกต้องตามระเบียบของหน่วยงานดังกล่าว

4.       ในทางกลับกันการที่ TDRI ใช้นักวิจัยผู้เป็นวิศวกรไม่ได้จบการศึกษาทางกฎหมายมาทำการวิจัยทางกฎหมายในสัญญาที่สลับซับซ้อนนั้น สอดคล้องกับ ภารกิจหลักของ TDRI”  ที่จะ ผลิตงานวิจัยเชิงนโยบายที่มีคุณภาพสูง อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการ และข้อมูลที่ถูกต้อง” หรือไม่

 

 

News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
         
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
         
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
         
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
         
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
         
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
News PRfocus
         
News PRfocus
News PRfocus
     
 
บริษัท พีอาร์ โฟกัส จำกัด
เลขที่ 9/134 หมู่บ้านทองสถิตย์ 9 วิลล่า ถนนวัชรพล แขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร 10220

Offfice : 02-654-7551-2 Fax : 02-654-7553 Email : prfocus@truemail.co.th

Copyright©prfocus 2015 , Allright Reserve.