ทรูรายงานผลการดำเนินงานปี 2553 รายได้จากบริการโดยรวมคงที่
บริการบรอดแบนด์ และบริการที่ไม่ใช่เสียงเติบโตแข็งแกร่ง
บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานผลประกอบการประจำปี 2553โดยรายได้จากการให้บริการโดยรวมคงที่เทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานโดยรวมในไตรมาส 4 เติบโตมากขึ้น จากความสำเร็จในการเปิดตัวไอโฟน 4 และการฟื้นตัวของบริการแบบเติมเงินในไตรมาสเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น บริการบรอดแบนด์และบริการไม่ใช่เสียงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากปีก่อน ในขณะที่ผลประกอบของทรูมูฟโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่มากนัก นอกจากนี้ รายได้จากการรับทำการโฆษณา ยังเป็นปัจจัยที่สร้างความเติบโตให้กับทรูวิชั่นส์
ในปี 2553 กลุ่มทรูมีรายได้จากค่าบริการโดยรวม (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) คงที่เมื่อเทียบกับปีที่ ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เป็น 52.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่มทรูปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ส่วนใหญ่จากการฟื้นตัวของบริการแบบเติมเงิน และความสำเร็จในการเปิดตัวไอโฟน 4 นอกจากนี้ การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในไตรมาส 4 มีส่วนช่วยให้ กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA เติบโตจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 กลุ่มทรู มี EBITDA โดยรวมลดลงร้อยละ 6.1 เป็น 18.4 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการขยายโครงข่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบางส่วนสามารถชดเชยได้ด้วยค่า IC สุทธิและกำไรจากการขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในปี 2553 ทรูมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (NIOGO) ก่อนภาษีเงินได้รอตัดบัญชีลดลงเป็นจำนวน 257 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทรูมีผลกำไรสุทธิจำนวนทั้งสิ้น 2.0 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับขาดทุนสุทธิจำนวน 1.2 พันล้านบาท ในปี 2552 ส่วนใหญ่จากกำไรจากการรีไฟแนนซ์ทรูวิชั่นส์ ซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร กล่าวว่า “แม้ต้องเผชิญกับ ความท้าทายต่างๆ ทั้งจากการแข่งขันและผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองในช่วงต้นปี แต่รายได้โดยรวมของกลุ่มทรูในปี 2553 อยู่ในระดับคงที่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา”
“อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 ทั้งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริการบรอดแบนด์ และ รายได้จากการรับทำการโฆษณาที่เพิ่มขึ้นของทรูวิชั่นส์ รวมทั้งการเป็นผู้นำตลาดไอโฟน 4 นอกจากนี้ รายได้จากบริการแบบเติมเงินของทรูมูฟ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในช่วงเก้าเดือนแรกของปี เริ่มฟื้นตัวในไตรมาสนี้ และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
“ทั้งนี้ กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ยังคงมีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยในปี 2553 มีผู้ใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของ กลุ่มทรูตั้งแต่ 2 รายการขึ้นไป เป็นจำนวนถึง 2.5 ล้านครัวเรือน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 จากปีที่ผ่านมา” นายศุภชัยกล่าวเพิ่มเติม
รายได้จากการให้บริการของทรูออนไลน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากปี 2552 เป็น 27.3 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ มาจากการเติบโตของบริการบรอดแบนด์ บริการโครงข่ายข้อมูลและคอนเวอร์เจนซ์ ทั้งนี้ รายได้จากบริการ บรอดแบนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เป็น 6.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่ายและ การเปิดตัวบริการบรอดแบนด์ความเร็ว 6 Mbps ทำให้ยอดผู้ใช้บริการรายใหม่สุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก ปีก่อนหน้า เป็น 122,000 ราย ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 17.7 เป็น 814,000 ราย นอกจากนี้ การลดลงของรายได้จากบริการโทรศัพท์พื้นฐานเริ่มชะลอตัวในปี 2553 ในขณะที่ธุรกิจใหม่ๆ อาทิ บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (IDD) เติบโตต่อเนื่อง
สำหรับ ทรูมูฟ รายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) อยู่ในระดับคงที่ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เป็น 23.6 พันล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากการเติบโตของบริการแบบรายเดือน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9) และบริการที่ไม่ใช่เสียง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8) โดยปริมาณการใช้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้จากบริการที่ไม่ใช่เสียงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยในปี 2553 ทรูมูฟยังคงมุ่งมั่นการเป็นผู้นำบริการสมาร์ทโฟน ส่งผลให้รายได้จากบริการโมบายอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม รายได้จากบริการแบบเติมเงินลดลงร้อยละ 6.6 จากการแข่งขันในโปรโมชั่นโทรภายในโครงข่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รายได้จากบริการแบบเติมเงินเริ่มฟื้นตัวใน ไตรมาส 4 จากการนำเสนอโปรโมชั่นเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ
ในปี 2553 ทรูมูฟสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ประมาณ 1.3 ล้านราย (จากปีก่อนหน้า) ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 17.1 ล้านราย ในขณะที่มีส่วนแบ่งตลาดโดยรวมคงที่ที่ร้อยละ 24.5 ทั้งนี้ ทรูมูฟมี รายรับค่า IC สุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 181 ล้านบาท
ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เป็น 9.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทรูวิชั่นส์มีรายได้จากการรับทำการโฆษณาเต็มปีเป็นปีแรกจำนวน 482 ล้านบาท ซึ่งสามารถชดเชยรายได้จากค่าสมาชิกที่ลดลง เนื่องจาก ผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองต่อลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไร ก็ตาม การเติบโตของกลุ่มลูกค้าในระดับกลางและล่าง ทำให้ทรูวิชั่นส์มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เป็น 1.7 ล้านราย ในขณะที่อัตราการเปลี่ยนแพ็คเกจสำหรับลูกค้าในระดับกลางและล่างมาใช้แพ็คเกจที่มีราคาสูง เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38.5
นอกจากนี้ ทรูวิชั่นส์ยังประสบความสำเร็จในการรีไฟแนนซ์วงเงิน 12 พันล้านบาทในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการกู้ยืม รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนั้นยังทำให้การดำเนินธุรกิจของทรูวิชั่นส์มีความคล่องตัวมากขึ้นรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต
ในปี 2553 บริษัทมีการชำระคืนหนี้จำนวน 5.7 พันล้านบาท ทำให้หนี้ระยะยาวโดยรวมลดลงเล็กน้อยเป็น 67 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA สุทธิ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.3 เท่า เมื่อเทียบกับ 3.1 เท่าในปี 2552
นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน กล่าวเสริมว่า “กลุ่มทรู ยังคงให้ความสำคัญกับ การลดภาระหนี้สิน โดยในปี 2553 ระดับหนี้สินของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดต่อเนื่องจากปี 2553 เพื่อเพิ่มผลกำไร”
สำหรับปี 2554 นายศุภชัย กล่าวว่า “กลุ่มทรูมุ่งมั่นนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสานต่อยุทธศาสตร์ คอนเวอร์เจนซ์ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท ในฐานะผู้นำบริการสื่อสารโทรคมนาคมไทยรายเดียวที่เป็น Quadruple Play ครบวงจรรวมทั้งยังมีแผนเพิ่มขีดความสามารถของโครงข่าย และขยายความครอบคลุมไปยัง พื้นที่ต่างๆ เพื่อการให้บริการสู่ประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มทรู นอกจากนั้น บริษัท จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของทุกธุรกิจ”
“บริษัทจะใช้ประโยชน์จากการเข้าซื้อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศจากกลุ่มบริษัทฮัทช์ เพื่อก้าวสู่การเป็น ผู้นำการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ในประเทศ ในขณะที่การเปิดให้บริการบรอดแบนด์ด้วยเทคโนโลยี DOCSIS 3.0 จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทรูออนไลน์ในฐานะผู้นำบริการบรอดแบนด์ นอกจากนั้น ทรูวิชั่นส์จะยังคงขยายการเติบโตในตลาดระดับกลางและล่าง เพื่อเพิ่มรายได้จากการรับทำการโฆษณา โดยการนำเสนอนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี จะช่วยสร้างความแตกต่างในตลาดระดับบน” นายศุภชัย กล่าวปิดท้าย