“เศษกระจกนิรภัย” กลายเป็นโรงอาหาร “รักษ์โลก” “เอนกประสงค์”
นวัตกรรม-จิตอาสา จาก “มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์” เพื่อเด็กนักเรียนในชนบท
ใครจะเชื่อว่า “เศษกระจกนิรภัย” [Tempered glass] ส่วนประกอบหนึ่งของบันไดเลื่อนที่ชำรุดแล้ว จะกลับกลายมาเป็นสิ่งปลูกสร้างนวัตกรรมใหม่ ในรูปแบบของ “โรงอาหารรักษ์โลกเอนกประสงค์” ที่ถือกำเนิดโดย บริษัท มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำธุรกิจลิฟต์และบันไดเลื่อน ซึ่งได้จัด “โครงการอาสาพัฒนาโรงเรียนบ้านเกิด” หรือ Hometown School Development ที่เปิดโอกาสให้พนักงานเขียนเรียงความเล่าถึงบ้านเกิด และบอกความต้องการที่จะให้ บริษัทฯ ช่วยสนับสนุนให้กลายเป็นจริง ซึ่งในปีนี้ เรียงความของ นายจักรพงศ์ ลำจวน ตำแหน่งช่างบริการศูนย์เชียงใหม่ ได้รับเลือก ดังนั้น คณะผู้บริหารและพนักงาน จึงได้เดินทางไปมอบ “โรงอาหารรักษ์โลกเอนกประสงค์” ให้แก่ โรงเรียนวัดบ้านท่า อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อไม่นานมานี้
โครงการอาสาพัฒนาโรงเรียนบ้านเกิด เป็นกิจกรรรม “ซีเอสอาร์” ของ บริษัท มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ (ประเทศไทย) ที่สานต่อมาเป็นปีที่ 8 โดยร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาคอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบและก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ ในรูปแบบ “โรงอาหารรักษ์โลกเอนกประสงค์” ภายใต้แนวคิด Green Concept ซึ่งจะนำเศษวัสดุต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และในการก่อสร้าง “โรงอาหารรักษ์โลกเอนกประสงค์” ครั้งนี้ ได้นำ OSB บอร์ด และ เศษกระจกนิรภัย [Tempered glass] มาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง จนได้นวัตกรรม-จิตอาสา ที่เป็นประโยชน์แก่ เด็กๆ ในชนบท
สำหรับ โรงอาหารรักษ์โลกเอนกประสงค์ ก่อสร้างด้วย “เศษกระจกนิรภัย” ที่ใช้ขนาบข้างบันไดเลื่อน ซึ่งไม่ได้ใช้ งานแล้ว นำกลับมาใช้เป็นส่วนผสมของคอนกรีต..เป็นการเพิ่มความแข็งแรงทนทานให้มากยิ่งขึ้ โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาคอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกแบบต่อเติมจากโรงอาหารหลังเก่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับเด็กๆ ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อีกทั้ง ยังดีไซน์ให้มีความโปร่งสบาย ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศหรือเครื่องดูดควัน ออกแบบให้มีช่องเเสงจากธรรมชาติช่วยลดการใช้พลังงาน อีกทั้ง ยังได้ ผสมผสานแนวคิด Green Concept นำเศษไม้ OSB บอร์ด มาอัดแน่นเป็นแผ่นเคลือบสีย้อมไม้ เพื่อนำมาใช้ทำเป็นผนังของอาคารบางส่วน ช่วยให้มีความสวยงามและเพิ่มแสงสว่าง นับว่าเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
มร.มุเนอิสะ โอกาโมโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญในการปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด เพราะเชื่อว่าจะช่วยสนับสนุนให้สังคมเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ จึงเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างดี พนักงานก็มีความภูมิใจที่ได้ทำอะไรดีให้กับบ้านเกิด บริษัทฯ ยังจะสานต่อโครงการอาสาพัฒนาโรงเรียนบ้านเกิดต่อไปอีก เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เยาวชนที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติต่อไป
นายจักรพงศ์ ลำจวน ช่างบริการศูนย์เชียงใหม่ เจ้าของบทความที่ได้รับการคัดเลือก กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากครับ ที่ได้มาพัฒนาโรงเรียนบ้านเกิด ที่ก่อนนี้ โรงอาหาร ค่อนข้างทรุดโทรมและมีพื้นที่เล็ก พอได้ เห็นโรงอาหารรักษ์โลกเอนกประสงค์ ที่ผู้บริหารและเพื่อนๆ พนักงาน มามอบให้กับโรงเรียน ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ยิ่งทำให้ผมยิ่งรู้สึกตื้นตันใจมากครับ”
ด.ญ.ขวัญฤทัย ต้องดี (น้องขวัญ) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า “หนูรู้สึกดีใจ ที่ได้โรงอาหารหลังใหม่ค่ะ หนูกับเพื่อนๆ จะได้มีพื้นที่กินอาหารสวยๆ แทนอันเก่าที่ทรุดโทรม ขอขอบคุณพี่ๆ ทุกคน แล้วยังสนุกมากๆ กับกิจกรรมปลูกต้นไม้ที่จะช่วยให้ความร่มรื่นในโรงเรียน ทำให้หนูและเพื่อนๆ เข้าใจถึงความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วยค่ะ”
ด.ญ.ไอยรินทร์ ยงยุทธ (น้องไอซ์) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า “โรงอาหารหลังใหม่ ดูดีกว่าอันเก่ามากเลยค่ะ และมีพื้นที่มากขึ้น หนูกับเพื่อนๆ จะได้ใช้รับประทานอาหารกลางวัน ไม่ต้องทนร้อน และยังจะได้ใช้ทำกิจกรรมกลุ่ม กับเพื่อนๆ แบบไม่ต้องกลัวว่าจะพังลงมา อนาคต ถ้าหนูมีโอกาส ก็จะกลับมาช่วย พัฒนาโรงเรียนในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยค่ะ”
นอกจากนี้ บริษัท มิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ (ประเทศไทย) ยังได้สอดแทรกกิจกรรม “ปลูกต้นไม้” ในโครงการ One Lift You Need, One Seed We Plant โดยคณะผู้บริหารและพนักงานฯ รวมไปถึงคณะครูและเด็กนักเรียน ได้ช่วยกันปลูกต้นไม้รอบๆ โรงเรียน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว อันเป็นการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่คู่กับสังคมไปนานๆ แล้วปิดท้ายโครงการ “โครงการอาสาพัฒนาโรงเรียนบ้านเกิด” หรือ Hometown School Development ด้วยการบริจาคอุปกรณ์การศึกษาและอุปกรณ์กีฬา พร้อมเงินสนับสนุนการศึกษา เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนต่อไป