CAT บุกตลาดไอโอทีเปิดให้บริการอัจฉริยะใน 26 จังหวัด
พร้อมเร่งขยายโครงข่าย LoRaWAN ครอบคลุมทั่วประเทศ
CAT เดินหน้าเปิดบริการอัจฉริยะ LoRa IoT by CAT แล้วใน 26 จังหวัด พร้อมเร่งขยายโครงข่าย LoRaWAN ทั่วประเทศภายในไตรมาส 2 ของปี 2562 มีโซลูชันให้เลือกใช้งานที่หลากหลาย มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ยั่งยืนรองรับไทยแลนด์ 4.0
ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า CAT ได้เร่งขยายโครงข่ายไร้สาย LoRaWAN อย่างรวดเร็วเพื่อส่งเสริมผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ IoT ที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยวันนี้โครงข่าย LoRaWAN เปิดใช้งานแล้วใน 26 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ น่าน นครราชสีมา มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา สงขลา สุราษฎร์ธานี และปัตตานี นอกจากขยายโครงข่าย LoRaWAN อย่างต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจะติดตั้งครบทั่วประเทศภายในไตรมาส 2 ของปี 2562 CAT ยังได้เปิดให้บริการ LoRa IoT by CAT เป็นบริการ Smart Solutions ผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะรูปแบบต่าง ๆ ให้ลูกค้าได้เลือกใช้อย่างหลากหลาย อาทิ ระบบติดตามบุคคลหรืออุปกรณ์ โคมไฟถนนอัจฉริยะ ระบบการวัดค่าอัจฉริยะ มิเตอร์อัจฉริยะ ที่จอดรถอัจฉริยะ ทั้งนี้ ในการรุกตลาดช่วงแรกจะเจาะกลุ่มภาครัฐ เนื่องจากมีนโยบายชัดเจนในการดำเนินงานตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่วนเอกชนจะเป็นกลุ่มลูกค้าเดิมของ CAT และขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่
การรุกตลาดในปีที่ผ่านมา CAT ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จักโครงข่าย LoRaWAN ควบคู่ไปกับบริการ LoRa IoT by CAT มากขึ้น รวมถึงจับมือกับสถาบันการศึกษา องค์กร สมาคมวิชาชีพที่ต้องการพัฒนาการใช้งาน IoT เพื่อนำเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ โดยใช้จุดเด่นของ LoRaWAN ที่เหมาะกับการใช้งาน IoT หรือ Internet of Things เนื่องจากเป็นเครือข่ายสื่อสารไร้สายที่ครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างไกล อัตราการใช้พลังงานต่ำในการส่งข้อมูล โดย LoRa IoT by CAT สามารถพัฒนาโซลูชันที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์การใช้งานด้าน Smart City ของทุกจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งการใช้งานในภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ ทั้งนี้ มีหลายโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม อาทิ โครงการฟาร์มเพาะเห็ดเศรษฐกิจ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ติดตั้งชุดอุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ เพื่อควบคุมอุณหภูมิและความชื้น โครงการจัดสร้างเครือข่ายสถานีตรวจวัดอากาศ จังหวัดน่าน โดยตั้งสถานีตรวจวัดอากาศกระจายไปในทุกตำบล และรายงานผลข้อมูลแบบ Near Real Time ผ่านทาง Web Application เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเอง เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิโรจน์ จริตควร หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม พร้อมทีมอาจารย์ในสาขาฯ ผู้ริเริ่มพัฒนาการใช้เทคโนโลยี IoT สำหรับโครงการฟาร์มเพาะเห็ดเศรษฐกิจ กล่าวว่า โครงข่าย LoRaWAN มีคุณสมบัติส่งคลื่นความถี่ได้ไกลแต่ใช้พลังงานที่ต่ำ เหมาะต่อการนำมาใช้ในงานด้านต่างๆ มากมาย ม.ศรีปทุม จึงได้ร่วมมือกับ CAT ในการศึกษาและนำ LoRaWAN มาใช้กับอุปกรณ์ IoT เพื่อช่วยส่งเสริมเกษตรกรให้ทำการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น โดยสำหรับโรงเพาะเห็ดเศรษฐกิจที่จังหวัดอยุธยา เราได้สร้างระบบควบคุมจัดการผ่านสมาร์ตโฟนผ่านแอปพลิเคชันไลน์เพื่อให้สอดคล้องกับความสะดวกของเกษตรกร “โดยปกติการทำ IoT แพลตฟอร์ม จะมุ่งเน้นที่โมบายแอปพลิเคชันกับเว็บแอปพลิเคชัน แต่เมื่อได้เข้ามาพูดคุยกับเกษตรกรที่จะใช้งานจริงพบว่าเขาไม่ได้คุ้นชินกับแอปพลิเคชันเหล่านั้นแต่คุ้นเคยกับการใช้ไลน์เพราะใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน จึงได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มให้ใช้งานผ่านไลน์เอพีไอเพื่อให้ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงเรือนเพาะเห็ดได้ง่าย นอกจากนี้เกษตรกรที่ต้องการขยายการผลิต พอมีการขยายโรงเรือนเพิ่มมากขึ้น ใช้พื้นที่มากขึ้น ปัญหาเดิมคือการใช้ WiFi ไม่สามารถครอบคลุมได้ ขณะที่การนำระบบ IoTมาใช้กับโครงข่าย LoRaWAN ที่ส่งสัญญาณได้ไกลถึง 15 กิโลเมตร จึงตอบโจทย์เกษตรกรได้เป็นอย่างดี”
ดร.ณัฏฐวิทย์ ยังได้กล่าวถึงความมั่นใจในภาพรวมการเติบโตของการใช้งานอุปกรณ์ IoT บนโครงข่าย LoRaWAN ในประเทศไทยว่ามีโอกาสเติบโตและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก LoRaWAN เป็นโครงข่ายสำหรับการเชื่อมต่อ IoT ที่เข้ามาเสริมโครงข่ายในรูปแบบอื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม (เช่น 3G 4G รวมทั้งโครงข่าย ไฟเบอร์ออปติก) เพื่อให้พร้อมรองรับการใช้งานในอนาคตซึ่งจะมีการขยายตัวของอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ใช้วัดค่าต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
“ในการสนับสนุนให้การดำเนินชีวิตของผู้คนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น จะมีอุปกรณ์ IoT อีกมากมายที่จะแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทาง การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร การรักษาพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้ CAT ในฐานะผู้นำการพัฒนาโครงข่าย LoRaWAN ในประเทศไทยพร้อมที่จะติดตั้งโครงข่ายในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการใช้บริการ LoRa IoT by CAT ได้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ โครงการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ จังหวัดอยุธยา เป็นเพียงส่วนหนึ่งในอีกหลายๆ โครงการของ CAT ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว พร้อมกันนี้ CAT ยังเปิดกว้างที่จะรับพันธมิตรใหม่ๆ ที่สนใจเข้ามาพัฒนา IoT และใช้งานบนโครงการ LoRaWAN” ดร.ณัฏฐวิทย์ กล่าวในที่สุด