ทรู ร่วมกับสมาคมนักข่าวฯ ปั้นนักข่าวพิราบน้อย
พร้อมรับมือการสื่อสารยุคใหม่ ที่ทุกคนเป็น “สื่อ”
วันเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกยุคดิจิตอล ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคข่าวสารเข้าสู่ยุคการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่หลากหลาย ทำให้ “สื่อ” มิใช่เพียงผู้รายงานข่าวฝ่ายเดียว ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์การสื่อสารที่เข้าถึงโลกออนไลน์อย่างสมาร์ทโฟน และโซเชียล เน็ตเวิร์คทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ พลิกโฉมให้ทุกคนเป็นทั้ง “สื่อ” และ “ผู้บริโภค” ในระยะเวลาเดียวกัน ทำให้นิสิต นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนต้องพร้อมรับมือกับการสื่อสารยุคใหม่ที่รับ-ส่งข้อมูลรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการฝึกฝนทักษะงานข่าว เก็บประเด็น และข้อมูลข่าวที่ถูกต้องครบถ้วน ทั้งสร้างสรรค์ผลงานข่าวที่โดดเด่น “พิราบน้อย” เป็นโครงการหนึ่งที่มุ่งมั่นผลิตคลื่นลูกใหม่ให้กับวงการสื่อมวลชนได้เติบโต และก้าวสู่วิชาชีพสื่อที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง โดยมีรางวัลเกียรติยศ “พิราบน้อย” ที่นิสิตนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนจากสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ร่วมนำเสนอชิ้นงานสื่อหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ และผลงานข่าวคุณภาพเข้ามาแข่งขันเป็นประจำทุกปี ตามพันธกิจหลักของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่มุ่งส่งเสริมบุคลากรคนข่าวให้มีความรับผิดชอบในภารกิจและบทบาทตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชน
นายนนท์ อิงคุทานนท์ ผู้จัดการทั่วไป สายงานบริการบรอดแบนด์ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้มีบทบาทด้านเทคโนโลยีสื่อสารโดยตรง กล่าวว่า โลกของการสื่อสารยุคใหม่มีพัฒนาการที่รวดเร็วขึ้นจนทำให้ดูเหมือนโลกใบนี้แคบลง ข้อมูลข่าวสารส่งถึงกันได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น แต่ในทางกลับกันก็อาจทำให้สังคมเกิดความสับสนวุ่นวายขึ้นได้เช่นกัน หากข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเทคโนโลยีสื่อสาร ทำให้ทุกคนสามารถเป็น “สื่อ” เผยแพร่ข่าวสารสู่สังคมได้ง่าย ฉะนั้น การเสริมสร้างความเข้าใจให้กับนิสิต นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ที่กำลังจะก้าวเป็นสื่อมวลชน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะข้อมูลข่าวสารจะต้องยึดหลักความถูกต้อง และ เชื่อถือได้ ทรู ตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากรในวิชาชีพนี้จึงให้การสนับสนุนกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง และภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตบุคคลากรคนข่าวที่จะก้าวไปทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ให้กับสังคม
นายสุวิชา ใจมีพร นักศึกษาจากคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตัวแทนกลุ่มที่ได้รับรางวัลข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น จากผลงานข่าว “โวย มรภ.สารคามรุกป่าหนองโน วุฒิฯจี้คืนชาวบ้าน” หนังสือพิมพ์ ”สื่อมวลชน” ให้ความเห็นว่า “โครงการพิราบน้อย ทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำงานด้านสื่อครับ ดีใจมากที่ผลงานได้รับรางวัลในปีนี้ และรู้สึกภูมิใจกับการตัดสินของคณะกรรมการที่เห็นว่าผลงานของเรามีจุดเด่นในเรื่องของการเลือกประเด็นข่าว ที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของในมหาวิทยาลัยกับชุมชนภายนอกได้ดี รู้จักแสวงหาแหล่งข่าวเกาะติดข้อมูล และนำเสนอข้อมูลได้ค่อนข้างครบถ้วน เดินข่าวอย่างรอบด้าน ทั้งยังยืนยันข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ นับเป็นรางวัลที่พวกผมภูมิใจครับ และหากมีโอกาสได้ก้าวสู่อาชีพสื่อมวลชน ก็จะตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดครับ”
สำหรับในปีนี้มีผลงานหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติส่งเข้าประกวดจำนวน 15 ฉบับ จาก 14 มหาวิทยาลัย (15 คณะ) ไม่มีผลงานหนังสือพิมพ์ใดได้รับรางวัลดีเด่น มีผลงานหนังสือพิมพ์ที่ได้รับรางวัลชมเชย 3 รางวัลได้แก่ หนังสือพิมพ์อ่างแก้ว จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หนังสือพิมพ์หอข่าว จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหนังสือพิมพ์บัณฑิตย์โพสต์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ นอกจากนี้ ยังมีรางวัลพิราบน้อยประเภทข่าวฝึกปฏิบัติดีเด่น ในปีนี้มีผลงานข่าวส่งเข้าประกวดจำนวน 26ข่าว จาก 11 มหาวิทยาลัย ผลงานข่าวที่ได้รับรางวัลดีเด่นได้แก่ ข่าวโวย มรภ.สารคามรุกป่าหนองโน วุฒิฯจี้คืนชาวบ้าน โดยหนังสือพิมพ์สื่อมวลชน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับรางวัลเงินสด 15,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ รางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล ได้แก่ ข่าวหอพักเถื่อนรอบมหาวิทยาลัยบูรพา โดยหนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว จากมหาวิทยาลัยบูรพา และ ข่าวผลกระทบและการต่อต้านการจัดตั้งนิคมเหล็กฯ จ.จันทบุรี โดยหนังสือพิมพ์ลานมะพร้าว จากมหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับรางวัลเงินสด รางวัลละ 7,500 บาท พร้อมกับโล่ประกาศเกียรติคุณ โดยรางวัลต่างๆ ที่มอบ ให้นั้น ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้แทนสื่อมวลชนหลากหลายสำนัก เพื่อมุ่งหวังให้พิราบน้อยเหล่านี้ คือ ความหวัง และแสงสว่างที่จะช่วยให้โลกนี้ ยังคงจุดยืนของข้อมูลข่าวสารสู่สังคม อยู่บนหลักความถูกต้อง และจรรยาบรรณของสื่อ…ที่เทคโนโลยีสื่อสารไม่มีวันจะทำได้