สัมมนา “Meaningful Broadband: A Plan for Thailand”
อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อคนไทยทุกระดับ
ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยการสนับสนุนของ หน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดการสัมมนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “Meaningful Broadband: A Plan for Thailand” ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๐๘.๑๕ - ๑๒.๐๐ น. ณ ชั้น ๙ อาคาร ศศปาฐศาลา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ฯ เพื่อนำเสนอความคิดในมิติใหม่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทย โดยเปิดโอกาสให้คนไทยทุกระดับได้มีโอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีราคาเหมาะสมและใช้งานง่าย โดยมี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และการบรรยายพิเศษเรื่อง “Meaningful Broadband เพื่อชาวไทยทั่วประเทศ” โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
โครงการบรอดแบนด์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน หรือ Meaningful Broadband โดย Dr. Craig Warren Smith, Senior Advisor, Human Interface Technology Laboratory, University of Washington และ Senior Fellow ศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาฯ นำเสนอขั้นตอนการนำอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมาใช้ประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วในระดับลึก และมีประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยการเติมเต็มช่องว่างที่เกิดจากการขาดนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนเกี่ยวกับระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาตลาดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงครั้งประวัติศาสตร์ที่ผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มมีส่วนร่วม และช่วยลดค่าใช้จ่ายและ เพิ่มรายได้ให้กับคนไทยผู้ใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีรายได้ต่ำจำนวนกว่า ๒๘ ล้านคน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ที่จะช่วยทั้งในด้านการกระจายรายได้ การสร้างงานทั่วประเทศ การลงทุนที่จะตามมา ฯลฯ
ในการสัมมนาวิชาการครั้งนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “Meaningful Broadband เพื่อชาวไทย ทั่วประเทศ” สรุปได้ว่า ประเทศไทยยังคงล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเห็นได้ชัดจากอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยที่ยังต่ำมาก โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานบรอดแบนด์ในประเทศไทยเพียง ๑.๒ ล้านครัวเรือนจากจำนวนประชากรทั้งหมด ๑๙ ล้านครัวเรือน จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีไอซีที และความทั่วถึงด้านสาธารณูปโภคเพื่อที่จะยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ซึ่งการผลักดันเรื่องอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้เป็นวาระแห่งชาติ จะทำให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผนและให้การสนับสนุนจนสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถขยายการเข้าถึงครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งทำให้การใช้งานเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ กลุ่มทรูมองว่า การพัฒนาอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน (Meaningful Broadband) จะต้องเตรียมความพร้อมทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ควบคู่กันไป ทั้งเรื่องการวางโครงข่ายพื้นฐานไอซีทีที่จะต้องครอบคลุมเข้าถึงทั่วประเทศ การพิจารณานำเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึง รวมทั้งเรื่องของอุปกรณ์การใช้งาน เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค ที่จะต้องได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ผลักดันเรื่องราคาอุปกรณ์มือถือ คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ้คให้มีราคาถูกลง เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาที่มีกำลังซื้อต่ำสามารถเข้าถึงได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีขีดความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว สิ่งที่ตามมาจะเป็นทั้งเรื่องความเจริญและปัญหาบรอดแบนด์จะเป็นสื่อรูปแบบใหม่ ที่ผู้บริโภคจะสามารถเลือกได้ตามใจ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะผลักดันเพียงด้านฮาร์ดแวร์ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์เท่านั้น จำเป็นต้องมีการพิจารณาเรื่องการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการใช้งานคอมพิวเตอร์เชิงสร้างสรรค์ และเต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน รัฐควรพิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบบางประการ (Deregulation) เพื่อเปิดโอกาสและเป็นแรงจูงใจผู้ร่วมพัฒนารายใหม่ๆ รวมทั้งมีส่วนในการลงทุนและให้การสนับสนุนการพัฒนาและผลิตคอนเทนท์ ตลอดจนแอพพลิเคชั่นรูปแบบต่างๆ อย่างไรก็ตาม รัฐต้องมีบทบาทในการควบคุมดูแลการใช้คอนเทนท์ และแอพพลิเคชั่นที่กระจายผ่านบรอดแบนด์สู่ประชาชน ด้วยการกำหนดมาตรการจากภาครัฐ เพื่อมิให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมผลักดันให้เกิดการสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีงามแก่สังคม ซึ่งผู้พัฒนาก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ มีหลักธรรมาภิบาล ร่วมกันสร้างคุณค่าทางสังคม ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง เพื่อเอื้อประโยชน์ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ก้าวทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว